MeeStang
ความรู้รอบตัว

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน

พนักงานหรือลูกจ้าง หากอยู่มาวันหนึ่งคุณถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้างโดยกะทันหันและโดยที่ไม่ได้มีความผิด เช่น นายจ้างเลิกกิจการ หรือนายจ้างต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น สิ่งที่ลูกจ้างควรจะรู้เป็นเรื่องแรกๆ คือ ‘เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน’ และสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

เงินค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะต้องทำงานครบ 120 วันเป็นอย่างน้อย

ค่าชดเชยตามกฎหมาย

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน

ค่าเสียหายหรือค่าตกใจจากการไม่บอกล่วงหน้า

การที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยกะทันหัน คือ นายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือ “ค่าตกใจ” ดังนี้

  • เลิกจ้างทั่วไป นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น ถ้าได้ค่าจ้างทุก 30 วัน นายจ้างต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
  • เลิกจ้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงาน ลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้งจะได้เงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน
  • เลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบกิจการ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้งจะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน นอกจากนี้ในกรณีที่มีการบอกล่วงหน้า แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ

ระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชย

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากลูกจ้างไม่ได้รับสามารถร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ เพราะถือว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

กรณีเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ลูกจ้างลาออกเอง
  • ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น โกงเงิน ยักยอกเงิน ฯลฯ
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
  • กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่ การจ้างงานในโครงการ งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว และงานที่เป็นไปตามฤดูกาล

เงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีว่างงาน

นอกจากเงินชดเชยที่จะได้รับจากนายจ้างแล้ว ก็จะยังมีเงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีว่างงานหรือตกงานอีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม ในอัตรา 50% ของรายได้ต่อเดือน โดยระยะเวลาการจ่ายทั้งสิ้น 180 วัน (6 เดือน) ภายใน 1 ปี ซึ่งฐานขั้นต่ำของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 1,650 บาท และฐานสูงสุดของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 15,000 บาท

2. กรณีลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม 30% ของรายได้ต่อเดือน โดยระยะเวลาการจ่ายทั้งสิ้น 90 วัน (3 เดือน) ซึ่งฐานขั้นต่ำของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 1,650 บาท และฐานสูงสุดของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 15,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีถูกเลิกจ้าง ส่วนเงื่อนไขของผู้ได้รับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องอยู่ภายในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

  1. ผู้ประกันตนจะต้องมีการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน
  2. ผู้ประกันตนจำเป็นต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน กับทางสำนักงานจัดหางานของจังหวัด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญา หรือขึ้นทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th
  3. หลังจากได้รับสิทธิแล้ว ผู้ประกันตนยังต้องเข้าไปรายงานตนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th
  4. ที่สำคัญการว่างงานในครั้งนี้ของผู้ประกันตนต้องไม่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ทุจริตในหน้าที่หรือต่อนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่เกิน 7 วันทำงาน ประมาณในการทำงาน จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย ต้องโทษจำคุก ฯลฯ หากการว่างงานหรือถูกเลิกจ้างเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิเงินชดเชย
  5. ผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมสำหรับการทำงาน และต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  6. สำหรับสิทธิเงินชดเชยที่จะได้รับ ในกรณีถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งต่อปี สามารถยื่นรับสิทธิเงินชดเชยได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 180 วัน และในกรณีลาออกจากงานหรือหมดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้งต่อปี สามารถยื่นรับสิทธิเงินชดเชยได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 90 วัน

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นรับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงาน

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
  2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
  3. หนังสือเลิกจ้างหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน

Related posts

ลาหยุด ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อนได้กี่วันตามกฎหมายแรงงาน อัพเดต 2567

Guru Stang

การครอบครองปรปักษ์ สิ่งที่เจ้าของควรรู้ก่อนจะเสียกรรมสิทธิ์ฟรี

Guru Stang