MeeStang
เรื่องรถต้องรู้

ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถไฟแนนซ์ได้ไหม? ทุกปัญหามีทางแก้

หลายคนที่รู้สึกว่าเริ่มผ่อนรถไม่ไหวแล้ว จะทำไงดี? เรามีทางเลือกหรือทางออกของปัญหามาแนะนำ ดังนี้

ผ่อนรถไม่ไหว คินรถ

กรณีที่ 1 เริ่มผ่อนไม่ไหว แต่ยังไม่ผิดสัญญาเช่าซื้อ

ลูกหนี้ที่เริ่มผ่อนไม่ไหว คือผ่อนแบบเลี้ยงงวด ผ่อนเดือนเว้นเดือน และมีแนวโน้มจะผ่อนไม่ไหวในอนาคต แนะนำ 3 ทางเลือก ได้แก่

1. ขายดาวน์รถให้กับคนอื่น

โดยในการขายดาวน์รถออกไปนั้น ผู้ที่เข้ามาซื้อดาวน์ก็จะมีทางเลือก 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. ผู้ซื้อมีเงินก้อนมาชำระค่ารถให้กับผู้ขายตามที่ตกลงกัน รวมทั้งปิดยอดเช่าซื้อที่เหลือทั้งหมดกับไฟแนนซ์ในคราวเดียว หมายความว่า ผู้ขายได้เงินตามที่ต้องการ และไฟแนนซ์ก็ได้รับชำระหนี้ที่เหลือคืนครบถ้วน กรณีแบบนี้สามารถนัดหมายผู้ซื้อให้เข้าไปที่ไฟแนนซ์พร้อมกับผู้ขาย เพื่อทำสัญญาซื้อขาย พร้อมทั้งปิดยอดหนี้กับไฟแนนซ์ได้ในคราวเดียวกัน
  2. ผู้ซื้อมีเงินเพียงมาชำระค่ารถให้กับผู้ขายแต่ไม่มีเงินก้อนมาปิด และต้องการผ่อนต่อกับไฟแนนซ์ ดังนั้น ผู้ขายต้องเปลี่ยนให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นผู้เช่าซื้อหรือลูกหนี้โดยตรงกับไฟแนนซ์ ซึ่งปกติก็จะทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อรับเงินมัดจำไว้ก่อน หลังจากนั้นก็ให้ผู้ซื้อติดต่อกับไฟแนนซ์เพื่อขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยอาจจะติดต่อกับไฟแนนซ์เดิมที่ผู้ขายทำสัญญาเช่าซื้ออยู่หรือติดต่อกับไฟแนนซ์เจ้าใหม่ก็ได้ และหากไฟแนนซ์อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ซื้อแล้ว ก็นัดหมายกันเข้าไปเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อที่ไฟแนนซ์ ซึ่งผู้ขายต้องอ่านในสัญญาที่เปลี่ยนใหม่นั้นให้มั่นใจว่าผู้ซื้อจะเข้ามาเป็นลูกหนี้ตามสัญญาแทน และผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบหนี้หรือความเสียหายใด ๆ หลังจากวันที่เปลี่ยนสัญญาอีก

2. คืนรถให้กับไฟแนนซ์

หากไม่สามารถหาผู้ซื้อรายใหม่ต่อได้ ก็สามารถนำรถไปคืนให้กับไฟแนนซ์ เพราะสัญญาที่ทำไว้กับไฟแนนซ์ คือ สัญญาเช่าซื้อ หมายความว่า ในขณะที่ผ่อนชำระค่างวด เปรียบเสมือนการจ่ายค่าเช่า กรรมสิทธิ์ของรถยังคงอยู่กับไฟแนนซ์ หมายความว่า จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ก็ต้องรอจนกว่าจะผ่อนชำระจนครบตามสัญญา ดังนั้น สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 573 ที่บัญญัติไว้ว่า

“ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง”

หมายความว่า หากยังไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตลอดเวลา โดยการนำรถที่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีกลับไปคืนไฟแนนซ์ และจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่จนถึงวันที่คืนรถทั้งหมด เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการที่ไฟแนนซ์เอารถไปขายต่อแล้วได้ราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา

ซึ่งในเรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานไว้อยู่แล้ว หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ในขณะที่นำรถไปคืนไฟแนนซ์ ก็ให้ทำหนังสือไว้เป็นหลักฐานว่านำรถยนต์มาคืนเรียบร้อยแล้ว และทางไฟแนนซ์ไม่ติดใจที่จะเรียกค่าชดใช้เงินใด ๆ อีก พร้อมทั้งถ่ายรูปหรือวิดีโอตอนคืนรถเก็บไว้เป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่งด้วย เผื่อว่ามีปัญหาฟ้องร้องกันในวันหน้า ก็จะได้มีหลักฐานไปใช้ต่อสู้ในศาลเพิ่มขึ้น

3. รีไฟแนนซ์

สำหรับผู้ที่ผ่อนมานานพอสมควรและต้องการเก็บรถไว้ ไม่ต้องการขายต่อหรือคืนรถให้กับไฟแนนซ์อาจจะต้องหาทางรีไฟแนนซ์หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจขอรีไฟแนนซ์กับไฟแนนซ์เดิม หรือรีไฟแนนซ์กับไฟแนนซ์ใหม่ก็ได้ โดยวัตถุประสงค์ของการรีไฟแนนซ์ คือ ลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่องวดลง เช่น จากเดิมผ่อนอยู่งวดละ 16,000 บาท ถ้ารีไฟแนนซ์สำเร็จก็อาจจะเหลือผ่อนเพียงวดละ 9,000 – 11,000 เพียงแต่ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้นและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย

ผู้ที่เลือกการรีไฟแนนซ์ จะต้องประเมินให้ดีด้วยว่าหลังจากรีไฟแนนซ์ไปแล้ว แม้ว่าจำนวนที่ผ่อนต่อเดือนจะน้อยลง แต่ก็ยังมีภาระรายจ่ายประจำเดือนที่ต้องผ่อนรถเป็นประจำทุกเดือน กระแสเงินสดที่จะได้รับมาในแต่ละเดือนนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ยังเหลือพอที่จะนำมาผ่อนชำระค่างวดได้หรือไม่ เพราะหากมีกระแสเงินสดรับที่ไม่แน่นอนหรือไม่เพียงพอ ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต ถ้าเป็นแบบนี้ ยอมตัดใจขายดาวน์ต่อหรือคืนรถให้ไฟแนนซ์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

กรณีที่ 2 ผิดสัญญาเช่าซื้อ และผ่อนต่อไม่ไหว

ในกรณีที่ขาดส่งเงินค่างวดรถ 3 งวดติดต่อกัน ก็จะถือว่าคุณผิดสัญญา และไฟแนนซ์จะมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ไปชำระเงินภายใน 30 วัน หากไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ไฟแนนซ์ก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งการที่ถูกบอกเลิกสัญญาก็จะต้องนำรถไปคืน พร้อมกับชดใช้หนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดคืนให้กับไฟแนนซ์ รวมถึงต้องชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ด้วย

โดยค่าขาดราคานั้นจะเกิดจากการที่ไฟแนนซ์นำรถที่นำมาคืนหรือไฟแนนซ์ไปยึดมาไปขายทอดตลาด และหากขายได้ต่ำกว่าราคาขายรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นเดียวกันซึ่งมีสภาพ อายุการใช้งาน ตลอดจนระยะทางการใช้งานที่ใกล้เคียงกันในท้องตลาดเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเท่านั้น เช่น รถที่เช่าซื้อไปนั้น ปกติมือสองที่ขายในท้องตลาดขายกันอยู่ที่ราคา 600,000 บาท แต่รถที่ไฟแนนซ์ได้คืนไปแล้วนำไปขายทอดตลาดได้ราคาเพียง 500,000 บาท ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินให้กับไฟแนนซ์อีก 100,000 บาท เป็นต้น

หากไม่ชำระค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ให้กับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์ก็จะมีการแต่งตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อผู้ซื้อ รวมทั้งซึ่งผู้ซื้อเองก็จะมีประวัติหนี้เสียและประวัติไม่ดีในเครดิตบูโรอีกด้วย

บทสรุป

1. หากเราคิดว่าจะผ่อนรถต่อไม่ไหว แนะนำให้รีบจัดการปัญหาก่อนที่จะผิดนัดชำระ 3 งวดติดกัน เพราะเมื่อถึงจุดนั้น รถก็จะถูกไฟแนนซ์ยึด แถมยังต้องจ่ายเงินส่วนต่างจากการขายทอดตลาดเพิ่มให้กับไฟแนนซ์อีกด้วย

2. แนะนำว่าอาจจะต้องเลือกที่จะขายดาวน์ หรือนำรถยนต์ไปคืนและบอกเลิกสัญญาก่อนที่จะเป็นฝ่ายผิดนัด ก็จะไม่ต้องชดใช้หนี้เพิ่มเติมนอกจากหนี้ที่ค้างอยู่ก่อนวันเลิกสัญญาเท่านั้น

3. สำหรับผู้ที่ยังตัดใจขายหรือคืนรถไม่ได้ และต้องการที่จะรีไฟแนนซ์เพื่อลดเงินผ่อนต่องวดลง แต่ก็ต้องคำนวณถึงกระแสเงินสดรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนให้ดี หากยังพอไหวก็เลือกที่จะไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ไหวก็อย่าไปฝืน เพราะในวันข้างหน้าอาจจะเสียทั้งรถและเงินดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าเดิม

ผ่อนต่อไม่ไหว คืนรถ

Source: https://www.setinvestnow.com

Related posts

การโอนลอยรถยนต์และเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้

Guru Stang

รถทะเบียนขาด โดนปรับเท่าไร ต้องต่อทะเบียนอย่างไร

Guru Stang

จ่ายค่างวดรถล่วงหน้า ชำระค่างวดเกินจำนวนดีไหม?

Guru Stang