MeeStang
เรื่องรถต้องรู้

การโอนลอยรถยนต์และเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้

การโอนลอยรถยนต์

การโอนรถโดยทั่วไปหลังจากการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ รถบรรทุก การโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อหรือผู้ขายไปจดทะเบียนผู้ครอบครองใหม่ที่สำนักงานขนส่ง ดังนั้น การโอนลอย เกิดจากกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สะดวกหรือไม่สามารถไปทำเรื่องต่อหน้านายทะเบียนที่ขนส่งได้ ดังนั้น เมื่อทำการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อย ผู้ขายรถยนต์จะเซ็นเอกสารสัญญาต่างๆ และส่งมอบรถกับเอกสารให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนรถเองที่สำนักงานขนส่ง ซึ่งการโอนลอยนั้นช่วยทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายประหยัดเวลาได้มาก แต่ต้องรอบคอบด้วยเช่นกัน

การโอนลอยรถยนต์

เอกสารสำหรับโอนลอยรถยนต์ มีดังนี้

  1. เล่มทะเบียนรถตัวจริง หรือใบคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริง
  2. สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ และ ผู้รับโอน (ถ้าหากเป็นนิติบุคคลให้มีหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ)
  3. สำเนาป้ายภาษีรถ หรือสำเนาใบเสร็จจากกรมขนส่งของรถ
  4. แบบฟอร์มคำขอโอนและรับโอนจากกรมการขนส่งทางบก
  5. หลักฐานการซื้อขายรถ เช่น หนังสือสัญญาซื้อขาย ใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษี
  6. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบ กรณีผู้โอนหรือผู้รับโอน ไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง

เอกสารการโอนลอย ดาวน์โหลดที่นี่

การโอนรถ กี่วันถึงได้เล่ม?

หากเตรียมเอกสารทุกอย่างไปครบถ้วน การโอนรถที่สำนักงานขนส่ง ใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1 วัน ก็ได้เล่มทะเบียนเรียบร้อย โดยทั่วไปการโอนนานสุดจะได้เล่มไม่เกิน 15 วันทำการ

การโอนลอยมีอายุกี่วัน

คำตอบคือ

  1. กรณีถ้าระบุวันที่ลงไปในเอกสารการโอนลอยแล้ว ต้องมาทำการโอนที่ขนส่งภายใน 15 วัน หากเกินกำหนดจะเสียค่าปรับล่าช้าเพิ่ม 200 บาท
  2. กรณีถ้าไม่ได้ระบุวันที่ลงไปในเอกสารให้ชัดเจน ก็จะไม่มีวันหมดอายุ สามารถไปโอนรถได้ในวันและเวลาที่ผู้ซื้อรถสะดวก ยกเว้นในกรณีบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถหมดอายุเท่านั้นจึงจะไม่สามารถโอนรถได้

การโอนรถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในกี่วัน

การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องยื่นแจ้งเรื่องต่อนายทะเบียนที่สำนักงานขนส่งภายใน 15 วัน ที่สำนักงานขนส่งนับแต่วันโอน หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ค่าใช้จ่ายในการโอนรถ

การโอนรถที่ขนส่งมีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมในการโอนรถยนต์ 100 บาท
  • ค่าคำขอในการโอนรถยนต์ 5 บาท
  • ค่าธรรมเนียมตรวจสภาพรถยนต์ 50 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อการประเมินราคารถทุก 100,000 บาท
  • ค่าเปลี่ยนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ (ถ้าอยากเปลี่ยน) 200 บาท
  • ค่าเปลี่ยนทะเบียนเล่มรถยนต์ (ถ้าชำรุดเสียหาย) 100 บาท

ข้อควรรู้ในการโอนรถ

  • แบบคำขอโอนและรับโอน ถ้าลงวันที่แล้ว หากท่านไม่มาดำเนินการโอนรถภายใน 15 วันทำการ จะเสียค่าปรับล่าช้าเพิ่ม 200 บาท
  • ควรเซ็นเอกสารไว้ 2 ชุด เผื่อกรณีมีปัญหา หรือ กรอกผิด จะได้มีสำรองไว้
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้โอน และรับโอน ต้องยังไม่หมดอายุ
  • หนังสือรับรองนิติบุคคล หรือ บริษัท ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ข้อควรระวังหากผู้ซื้อยังไม่ทำเรื่องโอนรถ

เมื่อผู้ขายทำการโอนลอยไปแล้ว แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานขนส่งให้เรียบร้อย เมื่อรถที่ขายไปเกิดปัญหาหรือนำไปกระทำความผิด เช่น ถูกใบสั่งจราจร / มีคดีเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุบนท้องถนน / นำไปก่อเหตุอาชญากรรม / นำไปขายต่อแบบผิดกฎหมาย เป็นต้น เจ้าของรถเดิมที่มีชื่อตามเล่มทะเบียนรถ อาจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังถือว่าเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าวอยู่

ดังนั้น เอกสารการซื้อขายควรมี 2 ฉบับเก็บไว้ทั้งทางผู้ซื้อและผู้ขาย โดยควรขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อเอาไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดคดีความก่อนที่จะมีการโอนอย่างถูกต้อง เจ้าของรถคนเดิมสามารถนำเอกสารเหล่านี้มายืนยันได้ว่ามีการขายไปแล้ว

Related posts

ค้างจ่ายค่างวดรถได้นานสุดกี่วัน ถึงจะไม่โดนยึดรถ

Guru Stang

รถยนต์ที่ยังผ่อนไม่หมด รีไฟแนนซ์ได้ไหม? ต้องทำยังไงบ้าง

Guru Stang

รถทะเบียนขาด โดนปรับเท่าไร ต้องต่อทะเบียนอย่างไร

Guru Stang