MeeStang
เรื่องรถต้องรู้

จ่ายค่างวดรถช้าได้กี่วัน มีค่าปรับอะไรบ้าง

โดยปกติแล้วผู้กู้ซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ทุกคนต้องทำการจ่ายค่างวดรถให้ตรงตามเวลาที่บริษัทสินเชื่อกำหนดเอาไว้ในสัญญา เพื่อรักษาเครดิตการจ่ายหนี้ไว้ให้คงที่และอยู่ในสถานะดี แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาการเงินที่รุมเร้าทำให้หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน มีเหตุให้ต้องจ่ายเงินล่าช้าออกไป จะทำไงดี เรามีคำตอบ

1.จ่ายค่างวดรถล่าช้าได้ไหม

ถ้าในสัญญาระบุว่า คุณต้องจ่ายค่างวดภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน แต่คุณจ่ายค่างวดรถล่าช้ากว่ากำหนดไป 1-3 วัน หรือบางไฟแนนซ์ก็ยอมให้ช้าได้ 5 วัน หรือ 7 วัน (ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท) จะยังไม่ส่งผลเสียอะไร ไม่มีค่าปรับ ถือว่ายังอยู่ในระยะปลอดภัย แต่หากจ่ายช้าเกินกว่านั้นออกไปอีก เช่น ช้าไป 8 วัน 10 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน หรือ 2 เดือน เป็นต้น ทางบริษัทไฟแนนซ์จะเริ่มคิดค่าเบี้ยปรับผิดนัด และค่าติดตามทวงหนี้ ซึ่งการจ่ายล่าช้านานเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเสียประวัติทางการเงินหรือเครดิตบูโรได้อีกด้วย

2.ผิดนัดชำระค่างวด เสียค่าปรับเท่าไร?

การคำนวณค่าเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว สามารถคำนวณคร่าวๆ เบื้องต้น ได้ดังนี้

ค่างวดที่ค้างชำระ x อัตราเบี้ยปรับผิดนัด x (จำนวนวันที่ค้างชำระ / 365 วัน)

**โดยอัตราเบี้ยปรับผิดนัดส่วนใหญ่คิดที่ 7-15% ต่อปี
ตัวอย่างเช่น

ค่างวดรถ 9000 บาทต่อเดือน จ่ายช้ากว่ากำหนดออกไป 20 วัน จะมีค่าเบี้ยปรับเท่ากับ
9000 x 0.15 x (20/365) = 73.97 บาท
ดังนั้น ยอดหนี้ (ค่างวด+ค่าเบี้ยปรับ) ที่ต้องจ่าย คือ 9073.97 บาท

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทสินเชื่อจะคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย ทำให้คุณต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 100-200 บาท สำหรับค่าโทรทวงถามหนี้

3.ค้างค่างวดช้าสุดได้กี่เดือน

คำตอบคือ คุณสามารถค้างค่างวดรถได้นานสุด 90 วัน หรือ 3 เดือน หรือ 3 งวด แล้วหลังจากนั้น บริษัทไฟแนนซ์จะมีหนังสือแจ้งให้คุณไปชำระหนี้ที่ค้างไว้ภายใน 30 วัน หากเกินจากนี้ไปแล้ว คุณยังไม่ได้ไปติดต่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ บริษัทไฟแนนซ์สามารถบอกยกเลิกสัญญา และยึดรถได้ทันที ที่สำคัญคุณก็จะติดเครดิตบูโรอีกด้วย

4.ผลเสียของการผิดนัดชำระหนี้

การผิดนัดชำระหนี้หรือการจ่ายค่างวดล่าช้ากว่ากำหนดนานเกินไป อาจส่งผลเสีย เช่น

  • ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก เบี้ยปรับผิดนัด และค่าติดตามทวงถามหนี้
  • ทำให้ขอสินเชื่อได้ยากขึ้น เพราะจะปรากฏในฐานข้อมูลเครดิต NCB
  • เมื่อค้างชำระหนี้นานทำให้ติดเครดิตบูโร
  • เมื่อค้างชำระหนี้นาน ถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้ชำระหนี้คืน อาจถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลายได้

แน่นอนว่า ทุกคนก็ล้วนอยากจะชำระค่างวดรถหรือจ่ายหนี้ตรงเวลา แต่ถ้าอยู่มาวันหนึ่งสภาพคล่องทางการเงินเกิดติดขัด ก็จำเป็นต้องจ่ายล่าช้าออกไป แต่หากอยู่ในกรอบเวลาที่ทางไฟแนนซ์ยืดหยุ่นให้ก็ไม่น่ากังวล แต่หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปนาน ก็อาจสร้างภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและปัญหาอื่นๆ ตามมาได้เช่นกัน

Related posts

วิธีการโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ เอกสารและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้

Guru Stang

รถยนต์ที่ยังผ่อนไม่หมด รีไฟแนนซ์ได้ไหม? ต้องทำยังไงบ้าง

Guru Stang

เอกสารโอนรถ แบบฟอร์มโอนรถ ดาวน์โหลดฟรี PDF

Guru Stang